ประวัติเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย
เครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Nursing Library Network พัฒนาจากงานวิจัยเรื่อง การศึกษาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดทางการพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งผ่านการรับรองให้ทำวิจัยจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 งานวิจัยนี้พัฒนาต่อยอดมาจากการนำเสนอผลงานของนางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุล นางสาวยุพิน ยังสวัสดิ์ และนางสาวนิภาพร เดชะ บรรณารักษ์และนักเอกสารสนเทศสังกัดห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในวันที่ 7 มกราคม 2564 เรื่อง การพัฒนา Website: Evidence-Based Nursing Practice & Research Support Website (http://www.lib.ns.mahidol.ac.th/EBP/index.html) ในการประชุมวิชาการระดับชาติ PULINET ครั้งที่ 11 (The 11th PULINET Online National Conference)
โดยได้รับรางวัลจากการนำเสนอผลงานด้วยวาจา ประเภทการบริการสารสนเทศ กรรมการผู้พิจารณาผลงาน คือ ศาสตราจารย์ ดร. ชุติมา สัจจานันท์ ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรพัฒนาต่อยอด Website ดังกล่าว เพื่อให้นักศึกษา อาจารย์พยาบาล และพยาบาลวิชาชีพทั่วประเทศสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ในระดับชาติ เนื่องจากผู้ที่สามารถ download ข้อมูล Full text ได้ในเว็บไซต์ Evidence-Based Nursing Practice & Research Support Website ที่นำเสนอนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีรหัส User name และ Password ของมหาวิทยาลัยมหิดลเท่านั้น
โครงการวิจัยเรื่อง การศึกษาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดทางการพยาบาลในประเทศไทยจัดทำขึ้นเพื่อศึกษาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดทางการพยาบาลในประเทศไทยด้านงานเทคนิค งานบริการ และส่งเสริมการเรียนรู้ของบุคลากรห้องสมุด รวมทั้งการรับรู้ของหัวหน้าห้องสมุดทางการพยาบาล เกี่ยวกับระดับความร่วมมือระหว่างห้องสมุดทางการพยาบาลก่อนและภายหลังมีกลุ่มเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาล โดยใช้ LINE Application ในการสร้าง LINE กลุ่มเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลในประเทศไทย
ซึ่ง LINE Application เป็นเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงคนหลายคนมาไว้ด้วยกันผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะทาง ผู้เข้าร่วมการวิจัยครั้งนี้อาจได้รับประโยชน์ คือ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วมการวิจัย เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุดทางการพยาบาลในประเทศไทย ซึ่งอาจทำให้ผู้รับบริการห้องสมุดมีแหล่งข้อมูลหรือฐานข้อมูลสำหรับสืบค้นข้อมูลจำนวนมากขึ้นและครอบคลุมเนื้อหามากกว่าเดิม
กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ บรรณารักษ์ห้องสมุดทางการพยาบาลที่สังกัดสถาบันการศึกษาทางการพยาบาลของรัฐและสภาการพยาบาลให้การรับรองสถาบัน จำนวน 40 แห่ง ดังนี้
- บรรณารักษ์ห้องสมุดทางการพยาบาลสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม จำนวน 7 แห่ง ที่สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
- บรรณารักษ์ห้องสมุดที่สังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด จำนวน 30 แห่ง
- หัวหน้าห้องสมุดที่สังกัดกระทรวงกลาโหม จำนวน 1 คน คือ หัวหน้าห้องสมุดของวิทยาลัย พยาบาลทหารอากาศ โดยยกเว้นการเก็บข้อมูลจากห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลกองทัพบกและห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ เนื่องจากได้รับแจ้งให้ส่งโครงการวิจัยขอรับรองจริยธรรมในคนกับหน่วยงานต้นสังกัด คือ กรมแพทย์ทหารบกและกรมแพทย์ทหารเรือ อีกครั้ง นอกจากที่ได้รับรองจริยธรรมในคนจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลมาแล้ว จึงจะเก็บข้อมูลที่ห้องสมุดได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านเวลา จึงแจ้งยกเว้นการเก็บข้อมูลจากห้องสมุดดังกล่าว
- หัวหน้าห้องสมุดสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ หัวหน้าห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ
- หัวหน้าห้องสมุดสังกัดกรุงเทพมหานคร คือ หัวหน้าห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
วันที่ 29 มกราคม 2564 นางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุล ได้แจ้งที่ประชุมกรรมการส่วนงานของหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องการได้รับทุนสนับสนุนพัฒนาผลงานเกี่ยวกับการพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลในประเทศไทยและเว็บไซต์ทางการพยาบาลแบบ Open access ซึ่งผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้ ผศ. ดร. นพพล เผ่าสวัสดิ์ ให้ความสนใจและให้คำแนะนำทางด้านเทคโนโลยีในการพัฒนาเว็บไซต์ดังกล่าว ซึ่งต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ผู้อำนวยการหอสมุดฯ ได้แนะนำโปรแกรมเมอร์อิสระ คือ คุณอารยา บูรกิจภาชัย ที่มีความรู้ ความชำนาญในการพัฒนาเว็บไซต์ให้กับภาควิชาในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลและสถาบันการศึกษาในประเทศไทย นางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุลได้ประสานงานด้านการออกแบบ พัฒนาและ update ข้อมูลในเว็บไซต์ให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่องกับคุณอารยา บูรกิจภาชัย ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน
ภายหลังจากโครงการวิจัยนี้ผ่านการรับรองให้ทำวิจัยจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว วันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นางสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุลและทีมงานได้ส่งบันทึกขออนุญาตเก็บข้อมูลจากหัวหน้าห้องสมุดทางการพยาบาลทั้งหมดผ่านผู้บริหารของหน่วยงานต้นสังกัดทุกแห่ง พร้อมทั้งแนบแบบสอบถามสำหรับผู้บริหาร ประกอบการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้บุคลากรเข้าร่วมการวิจัยหรือไม่อนุญาต รวมทั้ง QR Code และ Link สำหรับให้กลุ่มตัวอย่างสแกนเพื่อกดตอบรับเข้าร่วม LINE กลุ่มเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างเริ่มสแกน QR Code ตอบรับเข้าร่วมกลุ่มวันแรก ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทยจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ปัจจุบัน LINE กลุ่มเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลฯ มีสมาชิกที่เป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดทางการพยาบาลในประเทศไทยจำนวน 51 แห่ง และมีสมาชิกใน LINE กลุ่ม จำนวน 69 คน
นางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุล หัวหน้าโครงการวิจัยทำหน้าที่เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดทางการพยาบาลในประเทศไทย โดยวางแผนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้
- ประชุมออนไลน์เพื่อระดมความคิดเห็นและออกแบบกิจกรรมความร่วมมือระหว่างห้องสมุดในด้านงานเทคนิค งานบริการและส่งเสริมการเรียนรู้ของบุคลากรห้องสมุด
- ขอความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรสารสนเทศที่ห้องสมุดแต่ละแห่งให้บริการเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพัฒนาแนวทางความร่วมมือระหว่างห้องสมุดด้านงานเทคนิคและงานบริการและใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเว็บไซต์ทางการพยาบาลระดับชาติแบบ Open access
- ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางการจัดซื้อทรัพยากรสารสนเทศร่วมกันระหว่างห้องสมุดแบบ Consortium
- ขอความร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศที่ให้บริการออนไลน์ในลักษณะ Free / Open Access เพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการพัฒนาเว็บไซต์รวมข้อมูลหลักฐาน เชิงประจักษ์ทางการพยาบาลสำหรับใช้ร่วมกันได้ในระดับประเทศ
- เยี่ยมชมห้องสมุดทางการพยาบาลผ่านช่องทางการสื่อสารในระบบออนไลน์
วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 นางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุล หัวหน้าโครงการวิจัย ได้เรียนเชิญ ศาสตราจารย์ ดร. ชุติมา สัจจานันท์ อาจารย์ประจำแขนงวิชาสารสนเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อดึดนายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย รวมทั้งดำรงตำแหน่งกรรมการถาวร ส่วนงาน Management of Library Association Section ของ The International Federation of Library Associations and Institutions (IFLA) และดร. รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล อดีตผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมประจำเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทยเพื่อขอคำแนะนำในการบริหารจัดการเครือข่ายและการพัฒนาเว็บไซต์ทางการพยาบาลแบบ Open Access
วันที่ 8 มิถุนายน 2564 นางสาวสุรางค์์ ศิโรโรตม์สกุลได้เชิญสมาชิกเครือข่ายฯ เข้าร่วมประชุมออนไลน์เครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก มีการระดมความคิดเห็นสมาชิกและขอคำปรึกษาจากอาจารย์ที่ปรึกษาเครือข่ายในการกำหนดวัตถุประสงค์ของเครือข่าย โดยสรุปมีจำนวน 3 ข้อ ได้แก่
- เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย
- เพื่อให้ผู้รับบริการห้องสมุดสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก รวดเร็วและตรงตามความต้องการ
- เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการทำงานและพัฒนาทักษะใหม่ รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ของบุคลากรห้องสมุดทางการพยาบาลในประเทศไทย
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ชุติมา สัจจานันท์ได้แนะนำการจัดกิจกรรมความร่วมมือระหว่างห้องสมุดตามลำดับความสำคัญ ดังนี้
- จัดทำทำเนียบข้อมูลสมาชิกเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย พร้อมทั้ง ระบุความชำนาญหรือความสามารถพิเศษ รวมทั้งผลงานทางวิชาการและ URL Link ของผลงาน
- แต่งตั้งคณะทำงานในการแบ่งปันข้อมูลทรัพยากรสารสนเทศของห้องสมุดแต่ละแห่งเพื่อ ประโยชน์ในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และวิเคราะห์ความซ้ำซ้อนในการจัดซื้อวารสารภาษาไทย วารสารภาษา ต่างประเทศและฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
- จัดตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูล OER ทางบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ รวมทั้งทางการพยาบาลและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง
- เชิญชวนสมาชิกในเครือข่ายจัดทำและนำเสนอไฟล์วีดิทัศน์แนะนำห้องสมุดทางการพยาบาล แต่ละแห่ง ผ่าน LINE ข่ายงานห้องสมุดฯ
- เตรียมดำเนินการเก็บบันทึกข้อมูลการดำเนินงานของห้องสมุดทางการพยาบาล เช่น สถานภาพห้องสมุดพยาบาลในประเทศไทย ข้อมูลเกี่ยวกับบุคลากรและ Collection บริการและกิจกรรม ของห้องสมุด
- การสำรวจปัญหา อุปสรรคในการทำงาน รวมทั้งความต้องการของสมาชิกในเครือข่าย เพื่อดำเนินกิจกรรมความร่วมมือระหว่างห้องสมุดตามลำดับความสำคัญ
วันที่ 19 มิถุนายน 2564 ดร. รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล เสนอให้ตั้งชื่อเครือข่ายว่า “เครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย” และแนะนำให้ นางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุล หัวหน้าโครงการวิจัยรายงานผลการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างห้องสมุดทางการพยาบาลเสนอผู้บริหาร สถาบันการศึกษาทางการพยาบาลทุกแห่ง รวมทั้งคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก และ สภาการพยาบาล และควรมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างห้องสมุดทางการพยาบาลในประเทศไทย อย่างเป็นทางการเมื่อมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้ว
ตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2564 ถึงปัจจุบัน เครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย มีการประชุมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีกิจกรรมความร่วมมือระหว่างห้องสมุดด้านงานเทคนิค งานบริการและส่งเสริมการเรียนรู้ การเตรียมข้อมูลเพื่อพัฒนา Website รวมข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ทางการพยาบาลและ update ข้อมูลในเว็บไซต์ให้ทันสมัยและสามารถสืบค้นข้อมูลได้ตลอดเวลา เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันระดับประเทศ โดยดำเนินการผ่าน LINE Application และการประชุมแบบออนไลน์ ดังนี้
กิจกรรมความร่วมมือระหว่างห้องสมุดด้านงานเทคนิค
- แบ่งปันข้อมูลรายชื่อวารสารภาษาไทย วารสารภาษาอังกฤษ และฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ ห้องสมุดทางการพยาบาลจัดซื้อในปัจจุบัน
- ประชุมออนไลน์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในกลุ่ม LINE เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการเตรียม เจรจากับบริษัทหรือ Agent เพื่อพัฒนาแนวทางความร่วมมือในการจัดซื้อวารสารและฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกันระหว่างห้องสมุดที่จัดซื้อซ้ำซ้อนกันแบบ Consortium
- แบ่งปันข้อมูลชื่อบริษัทหรือผู้แทนจำหน่ายที่ห้องสมุดทางการพยาบาลใช้ในการติดต่อจัดซื้อ วารสารและฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
- ระดมความคิดในการกำหนดเงื่อนไขในการจัดซื้อวารสารภาษาอังกฤษและฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ในรูปแบบ Consortium
- เชิญผู้แทนฝ่ายขายของบริษัท/ร้านค้าที่จำหน่ายหนังสือ วารสารและฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มานำเสนอส่วนลดพิเศษ กรณีสมาชิกห้องสมุดหลายแห่งในเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลฯ รวมตัวกันซื้อทรัพยากรสารสนเทศ เช่นฐานข้อมูลหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Books) ฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Databases) ทางการพยาบาลรายการเดียวกันแบบ Consortium
กิจกรรมความร่วมมือระหว่างห้องสมุดด้านงานบริการ และส่งเสริมความรู้ทางวิชาการ
- แบ่งปันข้อมูลด้านแหล่งข้อมูลออนไลน์ทางการพยาบาลและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องแบบ Free Open/Access และแบ่งปันข้อมูล Website ห้องสมุด รูปภาพ วีดิทัศน์ และ YouTube แนะนำห้องสมุด
- แบ่งปันข้อมูลบทความทางวิชาการที่น่าสนใจให้สมาชิกทราบใน LINE กลุ่มเครือข่าย แนะนำ รายการบรรยาย การอบรมทางวิชาการ เชิญชวนให้สมาชิกเข้าร่วมกิจกรรม เช่น การจัดบรรยายโดย สำนักหอสมุดแห่งชาติ สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย และกลุ่มห้องสมุดโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย
- ติดต่อทาบทามวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อจัดบรรยาย Online แนะนำวิธีการสืบค้นข้อมูล หลักฐานเชิงประจักษ์ทางการพยาบาลจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทางการพยาบาล
- ให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำระหว่างห้องสมุดในการสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ และการขอบริการถ่ายสำเนาเอกสารระหว่างห้องสมุด
วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุล วางแผนกำหนดหัวข้อและเนื้อหาในแผนผังของ Website ชื่อ Thailand Nursing Research & Educational Resources Gateway โดยขอคำปรึกษาจาก ดร. รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล หลังจากนั้นได้พัฒนาเนื้อหาของ Website โดยทำงานร่วมกับคุณอารยา บูรกิจภาชัย ผู้รับจ้างพัฒนา Website อิสระ เว็บไซต์นี้พัฒนาเสร็จและเผยแพร่แก่อาจารย์และนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ในเดือน สิงหาคม 2564 นางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุลได้เผยแพร่ผลงานวิจัยนี้ทั้งในระดับคณะฯ ระดับมหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งได้รับคัดเลือกในการนำเสนอผลงานวิจัยแบบบรรยายในงานมหกรรมคุณภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และนำเสนอผลงานในระดับชาติในการประชุมวิชาการระดับชาติประจำปี ข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค PULINET 2022 วันที่ 6 มกราคม 2565
ผลสรุปการวิจัยเรื่อง การศึกษาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดทางการพยาบาลในประเทศไทย พบว่า จากการส่งแบบสอบถามเก็บรวบรวมข้อมูลไปยังหัวหน้าห้องสมุดของสถาบันการศึกษาทางการพยาบาลของรัฐทั้งหมดจำนวน 40 คน ระหว่างเดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ได้รับแบบสอบถามคืนจำนวน 36 ชุด (90.00 %) หัวหน้าห้องสมุดจำนวน 31 แห่ง (77.50 %) เข้าร่วมกลุ่มเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย รูปแบบของกิจกรรมความร่วมมือที่หัวหน้าห้องสมุดส่วนใหญ่ต้องการมากที่สุด ร้อยละ 91.67 คือ การพัฒนาฐานข้อมูลที่ให้บริการออนไลน์ในลักษณะ Open Access หัวข้อที่ต้องการให้ปรากฎในฐานข้อมูลมากที่สุด ร้อยละ 88.89 คือ ข้อมูลสิ่งพิมพ์และฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทั้งที่ห้องสมุดแต่ละแห่งจัดซื้อและแบบ Open Access กิจกรรมความร่วมมือระหว่างห้องสมุดประกอบด้วย การแบ่งปันข้อมูลสิ่งพิมพ์และฐานข้อมูล และการพัฒนาเว็บไซต์ Thailand Nursing Research & Educational Resources Gateway ผลการวิจัยพบว่า หัวหน้าห้องสมุดมีคะแนนการรับรู้ระดับความร่วมมือระหว่างห้องสมุดช่วงก่อนและหลังดำเนินกิจกรรมแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) และการประเมินความพึงพอใจเว็บไซต์ Thailand Nursing Research & Educational Resources Gateway พบว่า ผู้ตอบแบบประเมินส่วนใหญ่ร้อยละ 83.87 มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุด รองลงมา มีความพึงพอใจในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 16.13 และพบว่าสมาชิกในเครือข่ายส่วนใหญ่มีข้อเสนอว่าควรมีการ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อมูลในเว็บไซต์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
เว็บไซต์ Thailand Nursing Research & Educational Resources Gateway ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลในการพัฒนา บำรุงรักษา ปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมข้อมูลให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 จนถึงปัจจุบัน เป็นเว็บไซต์ที่สามารถสืบค้นข้อมูลโดยใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ได้หลากหลายประเภท เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์พีซี Laptop และแทบเล็ต
ภายหลังจากพัฒนางานวิจัยและสรุปผลการวิจัยเสร็จสิ้น ในเดือน ตุลาคม 2564 นางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุล ได้เชิญชวนห้องสมุดทางการพยาบาลทั้งที่สังกัดหน่วยงานราชการและเอกชนเข้าร่วมเป็นสมาชิก LINE กลุ่มเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย พบว่าล่าสุดมีสมาชิกห้องสมุดในเครือข่ายฯจำนวน 51 แห่ง ซึ่งเป็นห้องสมุดเฉพาะทางการพยาบาลทุกแห่ง (100 %) และทุกภูมิภาคในประเทศไทยที่สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก (บันทึกข้อมูลล่าสุด วันที่ 26 ธันวาคม 2565) ดังนี้
- ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์เกิ้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
- ห้องสมุดสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
- ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต ปทุมธานี (สถาบันการศึกษาเอกชน)
- ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
- ห้องสมุดนงเยาว์ ชัยเสรี (ห้องสมุดกลุ่มสุขศาสตร์) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ ชัยภูมิ
- ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ ร้อยเอ็ด
- ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎ ศรีสะเกษ
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ
- ห้องสมุดกรมแพทย์ทหารเรือ
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลตำรวจ
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นนทบุรี
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาล พระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จักรีรัช
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุรินทร์
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เชียงใหม่
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชลบุรี
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชัยนาท
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครลำปาง
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พะเยา
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี แพร่
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ยะลา
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ศรีมหาสารคาม
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สงขลา
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุตรดิตถ์
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลและสุขภาพ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จังหวัดสมุทรสงคราม
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครพนม
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี
- ห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พุทธชินราช
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุราษฎร์ธานี
- ห้องสมุดวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช
คณะผู้จัดทำได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในวาระต่าง ๆ และได้รับรางวัลมากมายดังนี้ โล่รางวัลและเกียรติบัตรระดับดีเด่นจากการประกวดผลงานวิจัยแบบ Oral Presentation เรื่อง “การศึกษาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดทางการพยาบาลในประเทศไทย” ในการประชุมวิชาการระดับชาติ PULINET 2022 ครั้งที่ 12 (The 12th PULINET Online National Conference : “New Generation Libraries: Toward House of Access”) ระหว่างวันที่ 5-7 มกราคม 2565 โล่รางวัลและประกาศนียบัตรจากการประกวดผลงานคุณภาพประจำปีงบประมาณ 2564 กิจกรรม Show Case Best Practice คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 31 สิงหาคม 2564 รางวัลรองชนะเลิศการนำเสนอผลงานนวัตกรรมแบบบรรยาย เรื่อง โครงการพัฒนาต้นแบบเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลระดับชาติผ่านระบบออนไลน์” ตามโครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านพัฒนานวัตกรรม คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 20 สิงหาคม 2564 และรางวัลชมเชยจากการนำเสนอผลงานแบบ Oral Presentation ในงานมหกรรมคุณภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโดยกองพัฒนาคุณภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ 31 พฤศจิกายน 2564
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 คณะผู้วิจัยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทยและเว็บไซต์ Thailand Nursing Research & Educational Resources Gateway ทั้งในระดับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระดับมหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านที่ประชุมกรรมการหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งเผยแพร่ในระดับประเทศผ่านห้องสมุดสมาชิกทุกแห่งในเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย และในวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ได้รับการติดต่อจากนักประชาสัมพันธ์ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขอสัมภาษณ์ผู้สนับสนุนหลักในการพัฒนาผลงานนี้คือ รศ. ดร. ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ หัวหน้างานวิจัยคือ น.ส. สุรางค์ ศิโรโรตม์สกุล เกี่ยวกับความเป็นมาของเครือข่ายฯ และการพัฒนาเว็บไซต์นี้ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลในระดับชาติ โดยเขียนบทความเผยแพร่ในวารสารวิชาการและหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย ตามรายละเอียดและ URL Link ของบทความดังนี้ ดังนี้ ข่าว “ม.มหิดล เปิดประตูสู่ฐานข้อมูลพยาบาลศาสตร์ไทยที่สมบูรณ์แบบและไร้ขีดจำกัดครั้งแรก” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ นางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุล บรรณารักษ์ชำนาญการพิเศษ และที่ปรึกษาหัวหน้างานห้องสมุด คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการเผยแพร่แล้วทางสื่อมวลชนดังนี้ 1.นิตยสารสาระวิทย์ 20-7-65 https://www.nstda.or.th/sci2pub/nssgateway/ 2.ThaiPR.NET 20-7-65 https://www.thaipr.net/education/3215148 3.RYT9.COM 20-7-65 https://www.ryt9.com/s/prg/3340505 4.newswit 20-7-65 https://www. newswit.com/th/LijK 5.Edupdate 20-7-65 https://www.edupdate.net/2022/26467/ 6.นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน 21-7-65 https://www. technologychaoban.com/bullet-news-today/article _222577 7.เมดิคอลไทม์ 21-7-65 http://medi. co.th/news_detail41.php?q_id=1135 รวมทั้ง เผยแพร่ข้อมูลใน Twitter ของมหาวิทยาลัยมหิดล ตาม URL Link นี้ https://op.mahidol.ac.th/ga/wp-content/uploads/ twitter/news-2022-7-22-5.pdf นอกจากนี้ นางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุล ยังได้ส่งข้อมูลไปเผยแพร่ในเว็บไซต์และ Facebook ของสภาการพยาบาล ซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากกว่า 50,000 คน ตาม URL Link ที่ได้รับการเผยแพร่ข้อมูลดังนี้ https://www.tnmc.or.th/news/697 และ Facebook ของสภาการพยาบาล คือ https://shorturl.at/rLSY9 ภายหลังการเผยแพร่ข้อมูล พบว่าได้รับการตอบที่ดี มีผู้กด like และกด share จำนวนมาก รวมทั้งได้เผยแพร่ใน Facebook ชื่อ “งานพยาบาลวิชาชีพ” ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 58,000 คน และ Facebook ชื่อ “Librarian in Thailand” ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 18,000 คน ตาม URL Link ดังนี้ https://shorturl.at/hvOP5 นอกจากการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในระดับประเทศแล้ว ในเดือนเมษายน 2565 นางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุลได้เขียนบทความภาษาอังกฤษ เรื่อง Thailand Nursing Library Network & Thailand Nursing Research & Educational Resources Gateway และส่งบทความไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ขององค์การวิชาชีพด้านห้องสมุดระดับนานาชาติ IFLA (International Federation of Library Associations and Institute) ปรากฎว่ากองบรรณาธิการของ IFLA ได้ตอบรับบทความ และเผยแพร่บทความดังกล่าว ในวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ผู้ที่สนใจสามารถอ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.ifla.org/news/thailand-nursing-library-network-thailand-nursing-research-educational-resources-gateway/ อนึ่ง เพื่อให้ผลงานที่ทำนี้ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย คณะผู้จัดทำได้ทำเรื่องขอแจ้งจดทะเบียนลิขสิทธิ์เว็บไซต์นี้ โดยทำเรื่องผ่านมหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับการรับรองการจดแจ้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 มิถุนายน 2565 จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทงานวรรณกรรม ลักษณะงาน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ตามทะเบียนข้อมูลเลขที่ ว1.009848 คำขอแจ้งข้อมูลเลขที่ 418755
ในการประชุมออนไลน์เครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3/2565 วันที่ 23 เดือน กันยายน พ.ศ. 2565 สมาชิกเครือข่ายฯ ได้มีมติเห็นควรให้กำหนดข้อตกลงความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสมาชิกเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย ว่าด้วยบริการระหว่างห้องสมุด พ.ศ.2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรสารสนเทศห้องสมุดร่วมกันระหว่างห้องสมุดสมาชิกเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุดและประหยัดงบประมาณของประเทศ เพื่อให้การให้บริการทรัพยากรสารสนเทศระหว่างห้องสมุดสมาชิกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่าย และเพื่อช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับสารสนเทศตามต้องการ ซึ่งนางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุลได้เชิญห้องสมุดสมาชิกเครือข่ายทุกแห่งช่วยกันระดมความเห็นและให้ลงมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระเบียบการให้บริการห้องสมุดและค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในการขอใช้บริการร่วมกันระหว่างห้องสมุด หลังจากนั้นจึงร่าง “ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสมาชิกเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทยว่าด้วยการบริการระหว่างห้องสมุด” ต่อมานางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุลได้ส่งร่างข้อตกลงฯ ให้กองกฏหมาย ของมหาวิทยาลัยมหิดลพิจารณาตรวจสอบและให้คำแนะนำในการปรับแก้ข้อตกลงให้เหมาะสม เมื่อปรับแก้ข้อตกลงตามคำแนะนำแล้ว จึงส่งข้อมูลแบบสอบถามในระบบ google form ไปยังห้องสมุดทางการพยาบาลทุกแห่ง ลงมติให้ความเห็นชอบข้อตกลงในระยะแรก หลังจากนั้นนางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุล ผู้แทนห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้ส่งบันทึกข้อความในนามคณบดี คณะพยาบาลศาสตร์พร้อมไฟล์ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสมาชิกเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการบริการระหว่างห้องสมุด ไปยังคณบดี/ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาทางการพยาบาล รวมทั้งหัวหน้าห้องสมุด จำนวนทั้งหมด 51 แห่ง เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2565 เพื่อให้รับทราบและแจ้งทดลองใช้ข้อตกลงเป็นระยะเวลานาน 6 เดือน เมื่อครบกำหนดช่วงเวลาการทดลองใช้ข้อตกลงแล้ว นางสาวสุรางค์ ศิโรโรตม์สกุล จึงได้ส่งแบบประเมินความพึงพอใจในข้อตกลงผ่านระบบ Google Form ไปยังห้องสมุดสมาชิกทุกแห่งทางระบบไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างวันที่ 12 – 21 มิถุนายน 2566 ผลการประเมินพบว่า ห้องสมุดสมาชิกจำนวน 29 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 56.86 มีความพึงพอใจ ดังนั้นข้อตกลงความร่วมมือระหว่างห้องสมุดสมาชิกเครือข่ายห้องสมุดทางการพยาบาลแห่งประเทศไทยว่าด้วยการบริการระหว่างห้องสมุด พ.ศ. 2566 จึงมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2566 และสิ้นสุดลงในวันที่ 21 มิถุนายน 2571 ทั้งนี้ เมื่อใกล้ถึงวันสิ้นสุดของระยะเวลาที่กำหนดไว้ ห้องสมุดสมาชิกจะทบทวนรายละเอียดในข้อตกลงความร่วมมือระหว่างห้องสมุด และอาจตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อขยายเวลาในการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงฉบับนี้ออกไปได้ตามความเหมาะสม โดยมีเหตุผลอันควรเป็นระยะเวลานาน 5 ปี ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดของข้อตกลงได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=McoPQjhnkRk
ท้ายนี้ คณะผู้จัดทำขอขอบพระคุณอาจารย์ที่ปรึกษาทุกท่านที่ให้คำแนะนำจนทำให้ผลงานประสบความสำเร็จ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. ยาใจ สิทธิมงคล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ชุติมา สัจจานันท์ อาจารย์ประจำแขนงวิชาสารสนเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อดีดนายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย และกรรมการถาวร Management of Library Associations Section, IFLA (International Federation of Library Associations and Institutes) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัตนาภรณ์ คงคา รองคณบดีฝ่ายการศึกษาและประธานกรรมการห้องสมุดคณะพยาบาลศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. อาภาวรรณ หนูคง อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จงกลวรรณ มุสิกทอง อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศรินรัตน์ ศรีประสงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลอายุรศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิมลนันท์ วุฒิวณิชพงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ ดร. รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล อดีตผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิด ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นพพล เผ่าสวัสดิ์ ผู้อำนวยการหอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล และคุณอารยา บูรกิจภาชัย โปรแกรมเมอร์ผู้มีส่วนร่วมในการสร้างเว็บไซต์ Thailand Nursing Research & Educational Resources Gateway
ประมวลภาพกิจกรรมความร่วมมือระหว่างห้องสมุด
ภาพจากการประชุมออนไลน์เครือข่ายฯ ครั้งที่ 1/2564
วันที่ 8 มิถุนายน 2564
ภาพจากการประชุมออนไลน์เครือข่
วันที่ 5 กรกฎาคม 2564
ภาพการได้รับรางวัลระดับดีเด่นจากการนำเสนอผลงานแบบ Oral Presentation เรื่องการศึกษาความร่วมมือระหว่างห้องสมุดทางการพยาบาลในประเทศไทยในการประชุมวิชาการประจำปีระดับชาติ PULINET 2022 วันที่ 7 มกราคม 2565
ภาพจากกิจกรรมออนไลน์ เชิญผู้แทนจำหน่ายฐานข้อมูล (บริษัท Book Promotion & Services Co. Ltd.) มานำเสนอฐานข้อมูลทางการพยาบาลและส่วนลดพิเศษ กรณีจัดซื้อแบบ Consortium วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564
ภาพจากกิจกรรมออนไลน์: เชิญผู้แทนจำหน่ายฐานข้อมูล (บริษัท McGraw Hill Education Thailand) มานำเสนอฐานข้อมูลทางการพยาบาลและส่วนลดพิเศษ กรณีจัดซื้อแบบ Consortium วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566